Uncategories

“World Music Pedagogy” สร้างครูแกนนำสู่การศึกษาดนตรีหลากหลายวัฒนธรรม

ครั้งแรกในไทย! RILCA เปิดเวทีอบรม “World Music Pedagogy” สร้างครูแกนนำสู่การศึกษาดนตรีหลากหลายวัฒนธรรม

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “World Music Pedagogy: Teaching Music/Teaching Culture” พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ครูดนตรีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 23 ท่านในฐานะครูแกนนำ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขยายเครือข่ายและองค์ความรู้ด้านการสอนดนตรีโลกและการสอนดนตรีบนฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรมในอนาคต ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องศิริราชรักษ์ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

การอบรม World Music Pedagogy เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ WMP-Thailand ที่ริเริ่มโดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพครูดนตรีไทยให้สามารถสร้างห้องเรียนดนตรีที่เปิดกว้างและตอบสนองต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมให้เยาวชนก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพและความเข้าใจในความหลากหลายของมนุษยชาติผ่านเสียงดนตรี ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก Smithsonian Folkways Recordings และการสนับสนุนแนวคิดสำคัญจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทริเชีย ชีฮาน แคมป์เบลล์ จาก University of Washington, ศาสตราจารย์ อะแมนดา ซี. โซโต จาก Texas State University, และ ศาสตราจารย์ ลิลลี่ เฉิน-แฮฟเทค ประธานภาควิชาศึกษาศาสตร์ดนตรี The UCLA Herb Alpert School of Music, UCLA

ตลอดระยะเวลา 3 วันของการอบรม ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับหลักการของคีตวิทยาดนตรีโลก (Principles of World Music Pedagogy) และมิติทั้ง 5 ของ WMP รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมดนตรีจากทั่วโลก อาทิ ดนตรีไทย, วัฒนธรรมล้านนา, ดนตรีและการร่ายรำกาเมลัน, โจเก็ท (Joget) ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน, เค-ป็อปในฐานะปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม, ดนตรีชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ, ลาตินดรัม, ดนตรีมาเรียชี่, ดนตรีจีน, แฮนด์แพน, ดนตรีเคลซเมอร์ และจังหวะในภารตะนาฏยัม (การเต้นรำคลาสสิกของอินเดียใต้)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอด เพื่อพัฒนาการสอนดนตรีที่สร้างสรรค์และตอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างแน่นอน การอบรมครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเพิ่มพูนความรู้และทักษะสำหรับครูดนตรีเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง และจุดประกายการเรียนรู้ตลอดชีวิตในเส้นทางการสอนดนตรีโลก”

การอบรมครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ RILCA ในการผลักดันการเรียนรู้ด้านดนตรีให้ก้าวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นความเข้าใจ ความเคารพ และการอยู่ร่วมกันในความหลากหลาย อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นพลเมืองโลกที่มีวิจารณญาณ เปิดกว้าง และพร้อมรับมือกับโลกยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์