|
|
|
หน้าแรก > สัมมนาและกิจกรรมความรู้ > กิจกรรม > การอบรมสัมมนา |
|
การอบรมสัมมนา |
|
การอบรมเชิงปฏิบัติการ "สัทศาสตร์ปฏิบัติเพื่อการออกเสียงที่ดีกว่า" (Practical Phonetics for Better Pronunciation)
เป็นการฝึกอบรมที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มพูนความรู้ของคณาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษทุกระดับ และผู้สนใจทั่วไป ให้ได้รับความรู้และความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับระบบสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเสียงสากล (IPA) ในภาคทฤษฎี และฝึกภาคปฏิบัติอย่างจริงจังในห้องปฏิบัติการภาษาที่ทันสมัย ทั้งในด้านการออกเสียง (Sound Production) และการระบุเสียง (Sound Identification) รวมทั้งการนำความรู้ทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้ในการออกเสียงภาษาอังกฤษ เพื่อปูพื้นฐานการออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม เพื่อให้สามารถออกเสียงภาษาได้ถูกต้องจนใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา ทำให้สามารถสื่อความหมายได้ตามที่ต้องการ
การอบรมเชิงปฏิบัติการ "สัทศาสตร์ทั่วไปแบบเข้ม: จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ"
เป็นการฝึกอบรมที่มีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนสาระวิชาเกี่ยวกับภาษา ที่ต้องการรู้เรื่องสัทศาสตร์ทั่วไปเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องการเรียนการสอนภาษา และผู้ที่สนใจจะเรียนรู้สัทศาสตร์อย่างลึกซึ้งเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเรียนรู้ภาษา โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิชาสัทศาสตร์ทั่วไป (General Phonetics) เนื่องจากบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งความรู้ดังกล่าว โดยมีสาเหตุมาจากเงื่อนไขต่างกัน ในขณะเดียวกันบุคลากรซึ่งเคยมีโอกาสได้เรียนรู้วิชานี้มาแล้ว ก็มีความประสงค์ที่จะกลับมาฟื้นฟูหรือเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในสาระต่างๆ ของวิชานี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจ
การอบรมภาษาและวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน (จีน เวียดนาม เขมร พม่า)
เป็นการฝึกอบรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมเบื้องต้น 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน และเขียน เนื่องจากเห็นว่าภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การค้าขาย การค้นคว้าวิจัย การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การรู้ภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้น จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้นก่อน ต่อจากนั้นผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ที่ได้รับนี้ไปศึกษาเพิ่มเติมในระดับที่สูงขึ้นหรือฝึกฝนหาความชำนาญต่อไป
การอบรมภาษาลาวหลักสูตรระยะสั้น "เรียนภาษาลาวระยะสั้น 2 วัน ก็อ่านได้"
เป็นการฝึกอบรมระยะสั้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว คือส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำความรู้จักชาวลาวมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านภาษาและวัฒนธรรมลาว เพื่อเป็นฐานไปสู่การสืบค้นความรู้วัฒนธรรมลาว การศึกษาวิจัย การท่องเที่ยว ตลอดถึงการติดต่อทำธุรกิจใน สปป.ลาว โดยการเรียนรู้ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ ภาพป้ายโฆษณา VCD คาราโอเกะ ภาษาลาว เพลงลาว และภาพถ่ายที่เนื่องด้วย สปป.ลาว เป็นต้น
การอบรมภาษาเขมรเพื่อการท่องเที่ยว
เป็นการฝึกอบรมให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจจะเดินทางไปประเทศกัมพูชาเพื่อการท่องเที่ยว การค้าขาย การศึกษา และการเจรจาต่อรองในด้านต่าง ๆ โดยหัวข้อการฝึกอบรมประกอบด้วยการบรรยายและการฝึกหัดความคล่องในการพูดและความเข้าใจ เช่น ประวัติความเป็นมา การออกเสียง ไวยากรณ์ คำศัพท์ ตัวเขียน ภาษาเขมร การทักทาย การแนะนำตัว การขอโทษและการขอบคุณ ข้อควรปฏิบัติและข้อควรหลีกเลี่ยง การเดินทางท่องเที่ยว การนัดหมาย การซื้อของ การต่อราคา เป็นต้น นอกจากนั้น แต่ละหัวข้อจะเสริมด้วยความรู้ทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ด้วย
การอบรม "ภาษาเวียดนามเพื่อธุรกิจ" และ "เคล็ดลับการลงทุนเวียดนาม"
เป็นการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับนักธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในประเทศเวียดนาม รวมทั้งนักธุรกิจไทยที่ค้าขายสินค้าให้กับนักธุรกิจชาวเวียดนาม ให้สามารถสื่อสารในด้านธุรกิจได้ และเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในด้านวัฒนธรรมเวียดนามเบื้องต้นให้กับนักธุรกิจไทย เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่างรวมถึงความพร้อม และการเมืองมีเสถียรภาพจึงส่งผลให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามจึงยังเป็นแหล่งที่ดึงดูดนักธุรกิจจากนานาชาติซึ่งประเทศไทยไม่อาจมองข้ามได้ นอกจากนี้ ชาวเวียดนามจำนวนไม่น้อยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และซื้อของกลับประเทศของตนด้วย
การอบรมภาษาไทยให้แก่ชาวต่างชาติ
เป็นการฝึกอบรมให้กับชาวต่างชาติที่มีความสนใจจะเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทย โดยใช้วิชาการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมมาประยุกต์กับการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนทั้งการบรรยายในชั้นเรียน และทัศนศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมไทยตามสถานที่สำคัญต่างๆ
การอบรมการเขียนสารคดีเชิงปฏิบัติการ "ร้อยความให้เข้าที่ เป็นสารคดีน่าอ่าน"
เป็นการฝึกอบรมเพื่อบอกเล่าเรื่องความรู้ในการเขียนสารคดี เทคนิคการเก็บข้อมูล ประสบการณ์จริงในการหาข้อมูลทั้งจากเอกสารและการลงพื้นที่ วิธีปฏิบัติเมื่อจะต้องเข้าพบแหล่งข้อมูล รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ โดยจะมีการออกฝึกปฏิบัติ ณ พื้นที่ภาคสนาม และฝึกหัดเขียนบทความเพื่อการเผยแพร่ และสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร โดยลักษณะของการฝึกอบรมแบ่งเป็นภาคทฤษฎี คือ การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบ กลวิธีเล่าความ กาหาข้อมูล หาลีลาการเขียนของตนเอง เทคนิคการถ่ายภาพ การเตรียมตัวออกพื้นที่ และนำผลงานการเขียนสารคดีมาวิจารณ์ เสนอแนะแนวทางการเขียน การตั้งชื่อเรื่อง และการนำเสนอผลงานสู่สำนักพิมพ์ เป็นต้น ส่วนภาคปฏิบัติจะเป็นการออกภาคสนามเพื่อฝึกหัดการเขียนสารคดี การถ่ายภาพ ณ พื้นที่ภาคสนามต่างจังหวัด
การอบรมเชิงปฏิบัติการ "การเขียนออกมาจากใจ: การนำเสนอภาพชีวิตคนและชุมชนแบบเล่าเรื่อง" (Writing from within: A Community-based Ethnography)
เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอาจารย์ นักวิจัย ที่ทำงานด้านการวิจัยชุมชน รวมทั้ง NGO และนักปฏิบัติงานด้านชุมชนและสังคม ที่ต้องการจะเขียนรายงาน บทความ หรือถอดบทเรียนการทำงานเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานจริงของตนเอง ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้และการฝึกฝนทางเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการเขียน กล้าที่จะเขียน และเขียนอย่างสนุก สามารถใช้การเขียนเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ และสร้างความสำเร็จให้แก่ตนเอง รวมทั้งยังได้ชิ้นงานประเภทเค้าโครง หรือ First draft สามารถนำไปขัดเกลา ปรับปรุงเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง โดยใช้รูปแบบการฝึกอบรม ทั้งการบรรยาย การฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง และการ Dialogue แลกเปลี่ยนความรู้
การอบรมพิพิธภัณฑ์ศึกษา
เป็นการฝึกอบรมเพื่อให้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนความรู้ ความเข้าใจงานด้านพิพิธภัณฑ์ การบริหารและการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ แก่บุคคลภายนอกที่มีความสนใจ ให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ในหัวข้อต่างๆ เช่น การจัดการและอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์ หลักการและแนวคิดพิพิธภัณฑสถาน การสื่อสาร การศึกษา และกิจกรรมในพิพิธภัณฑสถาน การดูแล อนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น โดยการอบรมจะมีการบรรยาย และการดูงานภาคสนามตามสถานที่จริงต่างๆ
การเสวนาวิชาการ (Forum)
เป็นการเสวนาวิชาการในหัวข้อต่างๆ ตามประเด็นที่น่าสนใจ อยู่ในความสนใจของสังคม และเป็นความถนัดของสถาบันฯ ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ดนตรี สุขภาพ
กิจกรรมพิเศษ
การฉายภาพยนตร์ พร้อมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น เสวนา ออกร้านจำหน่ายสินค้า แสดงนิทรรศการ เช่น ภาพยนตร์ เรื่อง เด็กโต๋ ปักษ์ใต้บ้านเรา ดินแดนมนุษยธรรมฯ ให้แก่นักศึกษา บุคลากร และผู้สนใจทั่วไป
|
|
|
|
|
|