จุดเริ่มต้นของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นความจำเป็นของการผลิตนักวิชาการที่มีความรู้และความเข้าใจวิธีการทางด้านภาษาศาสตร์ ในอันที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร การทำความเข้าใจกับผู้คนที่มีเชื้อสาย เผ่าพันธุ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีและการพูดแตกต่างจากคนไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าภาษาเหล่านี้จะเป็นภาษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ หรือภาษาของผู้คนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จึงก่อตั้ง "โครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมอาเชียอาคเนย์" ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 จากนั้นจึงได้รับการยกฐานะเป็น "สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท" ในปี พ.ศ. 2524 โดยมีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย" เมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันฯ ที่มีการขยายขอบเขตงานกว้างขวางมากขึ้น
ดังปรัชญาของสถาบันฯ ที่ว่า "ภาษาและวัฒนธรรมเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน" ภารกิจหลักของสถาบันฯ จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมงานวิจัยและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมในประเทศไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังพยายามพัฒนาและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษาในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ยังมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในการทำงานทางด้านภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาความรู้ดังกล่าวให้ก้าวหน้าและกว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนข้อมูล สารสนเทศต่างๆ และเผยแพร่วัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รวมไปถึงวัฒนธรรมอินเดียและจีนให้เป็นที่รู้จักอีกด้วย ทั้งนี้ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ถือว่าเป็นสถาบันทางการศึกษาของไทยแห่งแรกที่ดำเนินการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับ "ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์" ในฐานะของสถาบันวิจัย ทำให้ทางสถาบันฯ มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถทางด้านภาษาและวัฒนธรรม จนมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
คณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ได้ทำการศึกษาและผลิตงานวิจัยต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม สามารถนำไปปรับใช้ และต่อยอดทั้งทางด้านการวิจัย การศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรม อีกทั้งผลงานวิจัยของทางสถาบันฯ ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในระดับประเทศและระดับสากล สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆให้กับสังคมไทย และนำไปปรับใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนานโยบายระดับชาติอีกด้วย งานวิจัยและโครงการต่างๆ ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ครอบคลุมการศึกษาความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศไทย โดยเฉพาะงานวิจัยที่เน้นศึกษาโครงสร้างทางสังคม ความเชื่อ คติชาวบ้าน ประเพณี พีธีกรรม การสาธารณสุข ดนตรี ภาษา การสื่อสาร การพัฒนาชนบท และความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านภาษาและวัฒนธรรม รวม 5 หลักสูตร เพื่อตอบสนองความต้องการ และความเปลี่ยนแปลงในสังคม ในการที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม และจากการจัดอันดับของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2549 สถาบันฯ ติดอันดับ 1 ใน 4 ของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาและศิลปกรรมจากทั้งหมด 50 แห่ง โดยในปัจจุบัน สถาบันฯ เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการสื่อสารและการพัฒนา และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมและการพัฒนา
นอกเหนือจากภารกิจด้านการวิจัยและการจัดการเรียนการสอนแล้ว สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียได้ต่อยอดองค์ความรู้ของสถาบันฯ ในรูปแบบของการบริการวิชาการ โดยผลิตสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ทั้งพจนานุกรม สารานุกรม แบบเรียน และรายงานวิจัยต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดการประชุมและสัมมนาในหัวข้อต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจ ทั้งบุคลากรภายใน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วม อีกทั้งยังมีการเปิดอบรมภาษาต่างๆ ด้วย
ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของสถาบันฯ คือ การส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมีองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเป็นพื้นฐาน สถาบันฯ ได้จัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น การจัดโครงการร้องรำทำเพลงที่เรือนไทย ซึ่งนำเสนอความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ โครงการประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก ซึ่งเป็นการทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรมไทยที่จัดขึ้นทุกปี โครงการรักษ์ดนตรีไทย และโครงการค่ายเยาวชนฤดูร้อน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้และปลูกฝังความรักในศิลปวัฒนธรรมให้แก่เด็กเยาวชนด้วยการสอนดนตรีไทยและวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังเป็นแหล่งรวมข้อมูลเพลงไทยของอาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย ประจำปี พ.ศ. 2553 ด้วย
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา บุคลากรของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินงานในด้านการวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ และยังคงจะมุ่งหน้าสร้างสรรค์ผลงานต่อไป เพื่อไปให้ถึงวิสัยทัศน์ที่ชาวสถาบันฯ ได้ร่วมกันกำหนดไว้ว่าเราจะเป็น "สถาบันวิจัยและพัฒนา ความรู้ด้านภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์เพื่อเสริมสร้างปัญญาแห่งเอเชีย"