RILCA และ UNICEF Thailand สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการทำงานการทวิ-พหุภาษาศึกษาแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับ 6 ภาคีเครือข่ายหลัก ได้แก่ UNESCO, SIL International, มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (FAL), มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพซตาล็อตซี่ (PCF), สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสร้างความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายการดำเนินงานที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน รวมถึงการสนับสนุนการใช้ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับพื้นที่ที่มีความต้องการ ภายใต้กรอบแนวคิดของโครงการจัดตั้งเครือข่ายปฏิบัติการทวิ-พหุภาษาศึกษาแห่งประเทศไทย (Establishment and Strengthening of the Thailand MTB-MLE Action Network) ในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ณ ห้องราชดำเนินฮอล์ โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง

คุณ Aarti Saihjee หัวหน้าฝ่ายการศึกษา UNICEF เป็นผู้กล่าวต้อนรับและประกาศถึงความสำคัญในการจัดตั้งภาคีเครือข่าย Thailand MTB-MLE Action Network  เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและนโยบายที่เกี่ยวข้อง และเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาวของการขับเคลื่อนงานทวิ-พหุภาษาในประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) ม.มหิดล กล่าวเปิดการประชุมโดยแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องในเป้าหมายการดำเนินงานของแต่ละเครือข่าย รวมถึงความสำเร็จจากการดำเนินงานทวิ-พหุภาษาจากหลายองค์กรทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอย่างต่อนื่อง ซึ่งสถาบันวิจัยภาษาฯ ยินดีร่วมขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดตั้งเครือข่ายปฏิบัติการทวิ-พหุภาษาศึกษาแห่งประเทศไทยไปพร้อมกับทุกภาคีเครือข่าย

ในเวลาต่อมา ดร.รับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ (UNICEF) และ ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ ประธานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต (RILCA) ม.หิดล ได้นำเสนอความเป็นมา วัตถุประสงค์และแนวทางในการดำเนินงานโครงการ เพื่อขอรับฟังข้อเสนอแนะจากเครือข่ายในด้านการหาพันธมิตรและเครือข่ายเพิ่มเติม รวมถึงแนวทางการดำเนินงานระหว่างภาคีเครือข่ายในอนาคตอันใกล้ และประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนงานในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการทั้งในระดับพื้นที่ ภูมิภาคและระดับประเทศซึ่งเป็นฐานสำคัญในการเชื่อมต่อสู่ระดับนานาชาติต่อไป.