งานแถลงข่าว“ สถานการณ์การใช้สื่อ ไลฟ์สไตล์ และฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทย”
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล เผยแนวโน้มการใช้สื่อและไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุไทย พร้อมเสนอ 4 ฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทย ในงานแถลงข่าว“ สถานการณ์การใช้สื่อ ไลฟ์สไตล์ และฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทย”
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว “สถานการณ์การใช้สื่อ ไลฟ์สไตล์ และฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์ฯ นำเสนอผลสำรวจเรื่อง “สถานการณ์ พฤติกรรมการใช้สื่อ และประสบการณ์การถูกหลอกลวงของผู้สูงอายุไทย ปี 2567” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรพงษ์ บุญรักษา นำเสนอ “6 ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุไทย” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณรงเดช พันธะพุมมี ได้นำเสนอ “4 ฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทยในสังคมสารสนเทศ” ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ณ ห้อง Balcony ชั้น 5 โรงแรม Best Western จตุจักร และถ่ายทอดสดทาง FB: RILCA, Mahidol University
จากการสำรวจ สถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อ พฤติกรรมการใช้สื่อ และประสบการณ์การถูกหลอก โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ จำนวน 2,500 คนทั่วประเทศ พบว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มการใช้สื่อของผู้สูงอายุยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ สื่อออนไลน์ ที่ขยายตัวชัดเจน ส่วนสื่อบุคคล โทรทัศน์ และวิทยุมีแนวโน้มลดลง โดย Line เป็นช่องทางที่นิยมมากที่สุด รองลงมาคือ YouTube และ Facebook
ผู้สูงอายุใช้สื่อออนไลน์เพื่อติดต่อสื่อสารเป็นหลัก รองลงมาคือ ฟังข่าวสาร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้เพื่อความบันเทิง ค้นหาข้อมูล และทำธุรกรรมออนไลน์ ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน และแม้กลุ่มผู้สูงอายุจะใช้สื่อมากกว่า 4 ชั่วโมง/วันในสัดส่วน 37% แต่กลุ่มวัยก่อนสูงอายุ ใช้สูงกว่าชัดเจนที่ 47% (มากกว่าถึง 10 %)
ความเสี่ยงจากการถูกหลอกผ่านสื่อ ผู้สูงอายุที่รู้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 67 มีผู้สูงอายุไทย 23% ที่รู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อ โดยตกเป็นเหยื่อจากการซื้อของคุณภาพไม่สมราคามากถึง 73% การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในขณะที่เรื่องการหลอกให้ทำบุญก็เพิ่มขึ้นเป็น 39% (เพิ่มจากปี 66 เกือบ 10%) ทั้งนี้ กลุ่มวัยก่อนสูงอายุมีประสบการณ์การถูกหลอกผ่านสื่อสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุเล็กน้อย (24% เทียบกับ 23%) โดยทั้ง 2 กลุ่ม ถูกหลอกให้ซื้อของคุณภาพไม่สมราคา มากเป็นอันดับแรกเหมือนกัน
ในส่วนของไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุไทย คณะวิจัยได้เก็บข้อมูลใน 5 พื้นที่ (กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้) และทางช่องทางออนไลน์ รวม 2,637 คน พบว่า ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มก่อนวัยสูงอายุในสังคมไทย ให้ความสำคัญต่อครอบครัวและสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก และสนใจเรื่องการตลาดและการลงทุน แต่ไม่ค่อยเรียนรู้ และไม่ใส่ใจภาพลักษณ์
นอกจากนี้ ฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทยในสังคมสารสนเทศ พบว่า ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด เช่น “เท่าเทียมและเท่าทัน” จะเห็นว่า การปรับนโยบายเชิงระบบ เช่น การขยายอายุเกษียณ การส่งเสริมทักษะดิจิทัล การมีสื่อที่มีความรับผิดชอบ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในสังคม เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และยังคงเป็นทรัพยากรของชาติ ขณะเดียวกัน ฉากทัศน์เชิงลบ เช่น “ห่างเหิน ห่างไกล ขาดความเชื่อใจถ้วนหน้า” สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น หากสังคมละเลย ไม่เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างวัย และปัญหาข้อมูลเท็จลุกลามโดยไม่มีมาตรการรองรับ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์ฯ กล่าวปิดท้ายว่า “การทำงานในปีนี้มุ่งจัดการและยกระดับความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงสำรวจสถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อ และการรู้เท่าทันสื่อ ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 การศึกษาจัดกลุ่มวิถีชีวิตของผู้สูงอายุไทย การวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อและผลิตสื่อด้วยตนเองของผู้สูงอายุ และการศึกษาปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยปัจจัยด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง นโยบาย กฏหมาย จริยธรรม และประชากรในปัจจุบัน เพื่อสังเคราะห์คาดการณ์ (Foresight) ความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุไทย และนำเสนอออกมาเป็นฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทยในสังคมสารสนเทศในอนาคตในปี 2578 ดังนั้น อนาคตของผู้สูงอายุไทยจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต่ขึ้นอยู่กับ “การเลือกของเราในวันนี้” หากสังคมไทยต้องการให้เกิดฉากทัศน์เชิงบวก จำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาว มีนโยบายสอดคล้องกับบริบทจริง และที่สำคัญคือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และรัฐ”
สามารถรับชมการการแถลงข่าวได้ผ่านทาง
https://www.facebook.com/Rilca.Mahidol/videos/1460831108627382
หรือรับชมงาน/กิจกรรมออนไลน์ด้านภาษาและวัฒนธรรมของสถาบันฯ ได้ทาง
https://www.youtube.com/rilcamu2011