RILCA และ UNICEF ร่วมเฉลิมฉลอง “วันภาษาแม่สากล 2568”: เสริมพลังความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภาษาแม่อย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) โดย ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต (CD-RELC) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) พร้อมกับเครือข่ายและองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมเฉลิมฉลองวันภาษาแม่สากล ภายใต้หัวข้อ “สร้างพลังความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาภาษาแม่อย่างยั่งยืน” โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดงานเฉลิมฉลองวันภาษาแม่สากล รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และคุณไฟยาส เมอชิด คาซี่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย คุณมารีนา แพทริเออร์ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายการศึกษา สำนักงานภูมิภาคยูเนสโก กรุงเทพมหานคร และคุณอิลาเรีย ฟาเวโร่ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกันกล่าวชี้แจงที่มาและความสำคัญของภาษาแม่ เนื่องในงานวันภาษาแม่สากล ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 2 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ภายในงานมีการประกาศความร่วมมือของเครือข่ายปฏิบัติการด้านการศึกษาทวิ-พหุภาษาในประเทศไทย (Thailand MTB-MLE Action Network) ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรสำคัญที่ทำงานด้านการศึกษาภาษาแม่และสิทธิทางภาษาทั้งในประเทศและระดับสากล ประกอบด้วย 15 องค์กร ได้แก่ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต (CD-RELC) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล, องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ, SIL International, มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพซตาล๊อตซี่ (PCF), มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (FAL), สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT), สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (CIPT), กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (PSU), มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (YRU), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (CMRU), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (CRRU), มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (MFL), มูลนิธิช่วยเหลือเด็กชายแดนจังหวัดตาก (TBCAF) และชมรมนักจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดาร (Educational Management in Highland and Remote Area) เพื่อดำเนินงานร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายและขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาภาษาแม่และการศึกษาสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมีความเท่าเทียม
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ เวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “การส่งเสริมภาษาแม่หรือภาษาชาติพันธุ์ในระดับโรงเรียน และระดับมหาวิทยาลัย” โดยตัวแทนครูทวิ-พหุภาษาในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดปัตตานี กระบี่ สุรินทร์ และเชียงใหม่ รวมถึงผู้แทนหน่วยงานระดับอุดมศึกษาที่สนับสนุนการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เชียงใหม่ และยะลา และเวทีเสวนาเกี่ยวกับ “การส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE)” จากปราชญ์ ครู และผู้ปฏิบัติการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงภาษาแม่และองค์ความรู้ท้องถิ่นเข้ากับบริบทการศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากพื้นที่แม่สอด เกาะลันตา และชายแดนใต้ พร้อมกันนี้ยังมีเวทีนำเสนอ โครงการที่ส่งเสริมความร่วมมือระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ เช่น โครงการพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของชาวอูรักลาโวยจ, โครงการนิทานท้องถิ่นหลากหลายภาษา, และโครงการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมชาวญัฮกุร เป็นต้น ผู้เข้าร่วมงานจะได้เพลิดเพลินไปกับการแสดงดนตรีจากกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น “รำมะนา” จากชาวอูรักลาโวยจ “เตหน่ากู” จากชาวปกาเกอะญอ และเชิญเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นได้ตลอดงาน
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย โดย ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวันภาษาแม่สากลขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 13 ปีนับตั้งแต่ปี 2556 โดยในปีนี้มีเป้าหมายเพื่อประกาศการทำงานอันเกิดจากความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในประเทศและนานาชาติ ในการส่งเสริมภาษาแม่เพื่อการพัฒนาการศึกษา (MTB-MLE) และการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างภาษาและวัฒนธรรมในบริบทความหลากหลายทางสังคม (ICE) รวมถึงการทำงานเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูภาษาแม่/ภาษา ชาติพันธุ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการยกระดับชีวิตของประชากร รวมทั้งเสริมสร้างสังคมพหุภาษา-พหุวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง ร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์ และเครือข่ายทั้งในประเทศและนานาชาติ
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ได้สืบสานพันธกิจสำคัญที่สถาบันฯ ได้ดำเนินงานมาต่อเนื่องกว่ากึ่งศตวรรษ ทั้งด้านการวิจัย อนุรักษ์ และพัฒนาภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ผ่านโครงการวิจัยกว่า 100 โครงการ ครอบคลุมกว่า 30 กลุ่มชาติพันธุ์ จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น รางวัล Endangered Languages Award (2008) และ King Sejong Literacy Prize (2016) จากองค์การ UNESCO งานวิจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนในระดับ Real-World Impact โดยการปฏิบัติการด้านการส่งเสริมภาษาแม่ในการศึกษา (MTB-MLE) และการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างภาษาและวัฒนธรรมในบริบทความหลากหลายทางสังคม (ICE) รวมถึงการทำงานเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูภาษาแม่/ภาษาชาติพันธุ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์และเครือข่ายทั้งในประเทศและนานาชาติ ได้นำไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทุกกลุ่มของประเทศ และเสริมสร้างสังคมพหุภาษา-พหุวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง การทำงานที่ผ่านมาเป็นไปเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะ SDG 4: การศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง, SDG 10: ลดความเหลื่อมล้ำ และ SDG 16: ส่งเสริมสังคมสงบสุขและยุติธรรม และในปีนี้แนวทางการดำเนินงานและการจัดงานร่วมกับเครือข่ายยังสอดคล้องกับ SDG 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สามารถรับชมการเสวนาได้ผ่านทาง
Part 1 : https://www.facebook.com/Rilca.Mahidol/videos/1264871751271638
Part 2 : https://www.facebook.com/Rilca.Mahidol/videos/498612476628602
หรือรับชมงาน/กิจกรรมออนไลน์ด้านภาษาและวัฒนธรรมของสถาบันฯ ได้ทาง
https://www.youtube.com/rilcamu2011
RILCA and UNICEF Celebrate International Mother Language Day 2025: Empowering Collaboration for Sustainable Mother Language Development
On February 21, 2025, the Research Institute for Languages and Cultures of Asia (RILCA), through the Center for the Study and Revitalization of Languages and Cultures in Crisis (CD-RELC), Mahidol University, in collaboration with UNICEF Thailand and various national and international partners, will host a celebration for International Mother Language Day under the theme: “Empowering Collaboration for Sustainable Mother Language Development.” The event will take place at the Auditorium, RILCA, Mahidol University, Salaya Campus.
The event will feature an opening speech by Prof Piyamitr Sritara, MD, FRCP, President of Mahidol University, and a welcome address by Assoc. Prof. Dr.Nuntiya Doungphummes, Director of RILCA. Key figures delivering remarks on the importance of mother languages include:
- His Excellency Faiyaz Murshid Kazi, Ambassador of the People’s Republic of Bangladesh to the Kingdom of Thailand
- Marina Patrier, Deputy Director and Chief of Education, UNESCO Regional Office in Bangkok
- Miss Ilaria Favero, Chief of Adolescent Development and Participation
The public forum is available now:
Part 1 : https://www.facebook.com/Rilca.Mahidol/videos/1264871751271638
Part 2 : https://www.facebook.com/Rilca.Mahidol/videos/498612476628602
For other events and activities on languages and cultures hosted by RILCA:
https://www.youtube.com/rilcamu2011