RILCA ร่วมกับ จังหวัดนครปฐม วางแนวทางพัฒนาทุนวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจชุมชน
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ร่วมกับ จังหวัดนครปฐม วางแนวทางพัฒนาทุนวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจชุมชน ผ่านโครงการ “RILCA Connect: พลังวัฒนธรรมสร้างสรรค์”
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพงษ์ บุญรักษา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและการคลัง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนิดา ศิวปฐมชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและบริการวิชาการ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงเดช พันธะพุมมี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์, และบุคลากรของสถาบันฯ ได้เข้าพบท่านปรีชา ดิลกพรเมธี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ณ ศาลากลางจังหวัดนครปฐม เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ และจังหวัดนครปฐม ภายใต้โครงการ “RILCA Connect: พลังวัฒนธรรมสร้างสรรค์”
การหารือในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาความร่วมมือ และเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักถึงความสำคัญของการบูรณาการองค์ความรู้ด้านภาษา วัฒนธรรม และการสื่อสารเข้ากับทุนทางสังคมของจังหวัดนครปฐม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการพัฒนาทุนทางสังคมกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การอนุรักษ์และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ
ในการหารือนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในอนาคต โดยสถาบันฯ แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดนครปฐม ในการวางแผนและดำเนินโครงการที่ตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทุนวัฒนธรรมและทุนทางสังคมในการสร้างนวัตกรรม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน และการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกช่วงวัย
ในโอกาสนี้ สถาบันฯ แสดงเจตจำนงในการสนับสนุนจังหวัดนครปฐมผ่านการดำเนินงานวิชาการ วิจัย และกิจกรรมสร้างสรรค์ในหลากหลายมิติ อาทิ:
- การร่วมกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควบคู่กับคุณภาพชีวิต
- การสำรวจและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน
- การสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเด็นด้านทักษะชีวิต การรู้เท่าทันสื่อ และสุขภาวะองค์รวม
- การบูรณาการองค์ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมกับการพัฒนาเยาวชนและชุมชนในพื้นที่
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มีความยินดีและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดนครปฐมอย่างยั่งยืน โดยอาศัยจุดแข็งทางวิชาการและเครือข่ายความร่วมมือในการเชื่อมโยงคน ชุมชน และวัฒนธรรม เพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ สถาบันฯ มุ่งเน้นการแปลงองค์ความรู้ไปสู่การใช้จริงในพื้นที่ เสริมสร้างศักยภาพคนทุกช่วงวัย และต่อยอดทุนวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง