The 1st LINC Virtual International Conference

การประชุมวิชาการนานาชาติด้านภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม The 1st LINC Virtual International Conference – Language & Intercultural Communication in Times of Crisis

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดย หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (LINC) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ภายใต้หัวข้อ “The 1st LINC Virtual International Conference – Language & Intercultural Communication in Times of Crisis: Challenges and Opportunities”
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และรองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก Dr.Fenty Siregar อาจารย์ประจำจาก Maranatha Christian University ประเทศอินโดนีเซีย มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ To teach or not to teach taboo topics when developing student’s intercultural competence ในการประชุมครั้งนี้ด้วย

การจัดการประชุมดังกล่าว มีเป้าหมายหลักในการสร้างระบบกลไกในการจัดการความรู้ด้านภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมที่มาจากความหลากหลาย เป็นการขยายพรมแดนความรู้ไปสู่สังคมที่ไร้ขอบเขตมากขึ้น ตลอดจนข้อเสนอใหม่ เพื่อการอยู่ร่วมกันและการสร้างสรรค์งานด้านการสอนภาษา การแปล และการบริหารในนววิถีภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก  อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายด้านภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมทั้งในประเทศ และขยายไปสู่ต่างประเทศให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และนำมาซึ่งความร่วมมือในการสร้างผลงานในระดับสากลร่วมกันในอนาคต

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม เป็นหลักสูตรหนึ่งของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม และสามารถบูรณาการร่วมกับศาสตร์ด้านการสอนภาษา การแปล และการบริหาร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาความสุขของตนเองและผู้อื่น มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์คุณภาพงานด้านการสอนภาษา การแปล และการบริหาร ให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพในสังคมที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้

หลักสูตรฯ เชื่อมั่นว่า การจัดการเรียนรู้ของหลักสูตรฯ จะเป็นสะพานเชื่อมให้กับผู้เรียนได้เดินข้ามไปสู่ความเป็นพลเมืองโลก ที่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ความซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาของตนเองและโลก จนสามารถออกแบบกระบวนการสื่อสารและประยุกต์ใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ในวิถีการดำเนินชีวิต การเรียนรู้ และการทำงานเพื่อสร้างสันติสุขให้กับตนเอง และผู้คนในสังคมในทุกระดับได้อย่างมีคุณค่าต่อไป