กิจกรรมทั่วไป

เปิดตัวสารคดี  SOME ONE หนึ่งในหลาย “เรียนรู้ เข้าใจ พหุสังคมไทย”

การขับเคลื่อนสังคมพหุลักษณ์-ไทย ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนพื้นฐาน “ความเท่าเทียม”

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) เดินหน้าสร้างความเข้าใจ “ความต่าง” ในสังคมพหุลักษณ์-ไทยผ่านสารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย” บนฐานคิดร่วมกันสร้าง (Co-Creation Unit)  ด้วยความร่วมมือจากองค์กรเอกชน (SDG 17) เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของสังคมไทยบนพื้นฐานความเท่าเทียม (SDG 10) ภายใต้ หลักการเอกภาพบนความหลากหลาย แตกต่างแต่ไม่แตกแยก (SDG 16) โดยจัดงานเปิดตัวสารคดีแห่งปี  SOME ONE หนึ่งในหลาย “เรียนรู้ เข้าใจ พหุสังคมไทย” และจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมสะท้อนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนสังคมพหุลักษณ-ไทยร่วมกัน

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน จัดงานเปิดตัวสารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงาน และ ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ภายในงานมีการเปิดตัวอย่างสารคดี “SOME ONE หนึ่งในหลาย” พร้อมแนะนำทีมผลิตสารคดีและผู้เกี่ยวข้อง และมีการแสดงจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ จังหวัดเพชรบุรี จากนั้น เป็นการเวทีพูดคุย (TED Talk) หัวข้อ  “พหุสังคมวัฒนธรรม : มองความต่างอย่างเข้าใจ” โดยมี Asst. Prof. Dr.Kirk Person, Senior Literacy and Education Consultant จาก SIL International ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายความรู้ และเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน หัวข้อ “พหุสังคมไทย : อยู่อย่างไรให้เข้าใจกัน” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร หมาดเด็น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และคุณวิทยา แสงอรุณ บรรณาธิการบริหาร The Nation และผู้ก่อตั้ง Diversity in Thailand  ต่อด้วย เวทีเสวนาแลกเปลี่ยน หัวข้อ “กว่าจะมาเป็น…Some One” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์,อาจารย์จุฬาลักษณ์ นาควัฒนเศรษฐ์, คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์, คุณคมสันติ ทองมาก และคุณทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ทีมงานและบุคคลเจ้าของเรื่องในสารคดี และดำเนินรายการโดย คุณอดิศักดิ์ ศรีสม

สารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย” เกิดจากกระบวนการสร้างสรรค์บนฐานคิดร่วมกันสร้าง (Co-Creation Unit) จากความร่วมมือของ 3 องค์กร ได้แก่ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท สื่อดลใจ จำกัด และบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด เพื่อสร้างความเข้าใจของบุคคล ชุมชน และสังคมที่อยู่นอกเหนือจากกรอบสังคมที่คุ้นเคย ผ่านแนวคิด “สังคมพหุนิยม” และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในพหุสังคมไทยอย่างสันติสุขเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ภายใต้ หลักการเอกภาพบนความหลากหลาย แตกต่างแต่ไม่แตกแยก ตลอดจนเป็นการสร้างการรับรู้ เคารพ และยอมรับในสิทธิและความมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มต่าง ๆ บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน

สารคดีมีเนื้อหาเน้นการเผยให้เห็นภาพของ “พหุสังคมของสังคมไทย” เป็นการเผยแพร่ข้อมูล เนื้อหา เพื่อสร้างความเข้าใจในมิติของความหลากหลายในสังคม เปิดกว้างทางความคิด และยอมรับในความเห็นต่างอย่างมีเหตุผล โดยแบ่งโครงสร้างของชุดสารคดีออกเป็น 6 ส่วน 45 ตอน ได้แก่

  • บทนำ นำเสนอความแตกต่างและความหลากหลายในนิยามความเป็นไทย จำนวน 1 ตอน
  • พหุลักษณ์- รากพหุสังคม นำเสนอความหลากหลายของพหุลักษณ์ในภูมิทัศน์สังคมไทย จำนวน 12 ตอน
  • พหุสังคมวิถีใหม่ พหุสังคมในรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นพลวัต นำเสนอกลุ่มคนทางวัฒนธรรมในปัจจุบันที่มีความแตกต่าง จำนวน 18 ตอน แบ่งเป็นกลุ่มเรื่องย่อย 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ การเมืองต่างรุ่น-เศรษฐกิจต่างราก (6 ตอน), ช่องว่างทางชีวิต (6 ตอน), วิถีบำบัดกาย มรรคาเยียวยาใจ (4 ตอน) และ สื่อสารในโลกใบใหม่ (2 ตอน)
  • พลเมืองไร้พรมแดน นำเสนอกสนเลื่อนไหลของสังคม จำนวน 7 ตอน
  • คนพิเศษในความสามัญ นำเสนอความเข้าใจชีวิต คุณค่า สิทธิของกลุ่มคน จำนวน 4 ตอน
  • บทสรุป นำเสนอแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพหุสังคมไทย จำนวน 3 ตอน

สารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย” จะออกอากาศทางช่อง MCOT HD 30 ทุกวันเสาร์-และอาทิตย์ เวลา 9:30-10:00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 – 6 พฤษภาคม 2566 และเผยแพร่ในช่องทาง Social Media ไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook และ YouTube : RILCA, Mahidol University