การบริการรับใช้สังคมในรูปแบบออนไลน์เพื่อหาแนวทางในการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือแรงงานเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สถาบันวิจัยภาษาฯ ปรับรูปแบบการบริการรับใช้สังคมในรูปแบบออนไลน์เพื่อหาแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือแรงงานเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับ Stakeholder

สืบเนื่องจากการประชุมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลพื้นที่ภาคกลางและตะวันตก และสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และนางสาวรัชวัลย์ บุญโฉม ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 5

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2563 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับรูปแบบการบริการรับใช้สังคมในรูปแบบออนไลน์ด้วยการเป็นแกนนำในการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและหาแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือแรงงานเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับ Stakeholder ในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลสมุทรสาคร มูลนิธิรักษ์ไทย และผู้แทนจาก โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร

ทั้งนี้ ยังมีแผนการทำงานต่อเนื่องด้วยการนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อรับฟังความต้องการความช่วยเหลือจากพื้นที่ในรูปแบบออนไลน์จากโรงพยาบาลสนามตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ในวันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2563 เพื่อออกแบบนโยบายและวิธีการช่วยหลือด้านสุขภาพจิตจากความเชี่ยวชาญด้านภาษา วัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมในอาเซียน โดยสถาบันฯ ได้เตรียมล่ามและผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมเมียนมา และผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานเมียนมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการผลิตสื่อออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบเพื่อการดูแลตัวเองในสถานการณ์การระบาดโควิต-19 สำหรับแรงงานชาวเมียนมาทั่วไป แรงงานสตรี และเด็ก โดยมีจะมีการจัดทำในภาษาอาเซียนเป็นลำดับต่อไป

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังมีแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือในมิติอื่นๆ ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 กรมสุขภาพจิต และหน่วยงานในพื้นที่ต่อไปทั้งด้านการวิจัยและการบริการวิชาการเพื่อรับใช้สังคมจากความเชี่ยวชาญการวิจัยด้านภาษา วัฒนธรรม พหุวัฒนธรรมอาเซียน และแรงงานข้ามชาติ