กิจกรรมทั่วไป

ความก้าวหน้า “โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ประเด็นภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต”

เวทีนำเสนอรายงานความก้าวหน้า “โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ประเด็นภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต” ภายใต้โครงการ “การฟื้นฟูภาษาและภูมิปํญญาท้องเพื่อสร้างพลังชุมชนสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต จัดเวทีนำเสนอรายงานความก้าวหน้า “โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ประเด็นภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต” ภายใต้โครงการ “การฟื้นฟูภาษาและภูมิปํญญาท้องเพื่อสร้างพลังชุมชนสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” โดยมี ศาสตราเกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานที่ปรึกษาศูนย์ฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม และน.ส.กุมารี ลาภอาภรณ์ หัวหน้าโครงการ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงานในวันที่ 30 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุม 504 ชั้น 5 เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมวิจัยได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกับทีมวิจัยของโครงการวิจัยอื่นๆ ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางจากผู้ทรงคุณวุฒิในการพัฒนาและขับเคลื่อนการทำงานโครงการวิจัยในระยะต่อไป

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ได้ดำเนินงานวิจัย โครงการฟื้นฟูภาษาและภูมิปํญญาท้องเพื่อสร้างพลังชุมชนสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และสถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างพลังชุมชนในกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความสามารถในการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชนผ่านการติดตามและสนับสนุนการทำงานโดยโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้จากการทำงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์สู่สาธารณะต่อไป

ทั้งนี้ มีการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน 4 โครงการด้วยกัน ได้แก่

  1. โครงการ“ฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์เญอผ่านการแสดงพื้นบ้านรำสะไน บ้านหลุบโมก ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ”
  2. โครงการ “ฟื้นฟูภาษาและประเพณีไหลเรือไฟกลุ่มชาติพันธุ์โย้ย ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร”
  3. โครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาแม่ของกลุ่มผู้ปกครองสู่เด็กนักเรียนในสังคมพหุภาษา – วัฒนธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์กูย เขมรถิ่นไทยและลาว”ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนบ้านขี้นาค ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ
  4. โครงการ “TADIKA CEMERLANG” (ตาดีกา เจิดจรัส) เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) หรือ TADIKA ซึ่งหมายถึง ศูนย์หรือสถานที่ดูแล สั่งสอน ฝึกอบรมให้ความรู้แก่เด็กเล็ก ๆ เป็นสถานที่สอนศาสนาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ศาสนาอันเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม