การประชุมวิชาการนานาชาติ Southeast Asian Studies: Transnationalism, Colonialism and Authoritarianism in Modern Southeast Asia
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ Southeast Asian Studies ในหัวข้อ Transnationalism, Colonialism and Authoritarianism in Modern Southeast Asia โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม และอาจารย์จุฬาลักษณ์ นาควัฒนเศรษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษา สถาบันฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ ในวันที่ 31 กรกฏาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ Webex Meeting
ในโอกาสนี้ สถาบันฯ ได้รับเกียรติจาก Dr. Karin Zackari อาจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ประสานงานโครงการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Human Rights and Programme Coordinator of Centre for East and South-East Asian Studies) จากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) มาบรรยายในหัวข้อ Thai Nationalism, Anti-imperialism and Transnational Solidarity: Human rights in the 1970s โดยนำเสนอถึงสถานการณ์ทางการเมือง สภาพแวดล้อมของโลก และการแสดงออกสิทธิมนุษยชนในปี 1970 ทั้งการปกครองแบบอำนาจนิยมของไทยและการแทรกแซงของตะวันตก และ Assoc. Prof. Dr. Ja Lan Chong รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (The National University of Singapore) บรรยายในหัวข้อ Post-Democratizing Politics in East Asia โดยนำเสนอถึงความแตกต่างของระบบการเมืองในเอเชียตะวันออกหลังจากวิกฤตการเงินโลก การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (BREXIT) การเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ และการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Southeast Asian Studies โดยวิทยากรจากหลากหลายสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งเมืองมาเก๊า (University of Macau) สถาบันการแข่งขันแห่งเอเชีย (Asia Competitiveness Institute) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก (International College, Krirk University) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) มหาวิทยาลัยกาจาห์มาดา (Universitas Gadjah Mada) และกิจกรรม Workshop ที่น่าสนใจสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
การจัดการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยเป็นสื่อกลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยไทยและนักวิจัยต่างประเทศในประเด็นด้านการเมือง อาณานิคมข้ามชาติ และอำนาจนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมิติต่างๆ รวมทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอีกด้วย