การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นันทนาการ และการท่องเที่ยวระยะยาว
การบูรณาการการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ ส่งเสริมมิติด้านความเป็นธรรมและความยั่งยืน
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) เสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยเพื่อร่วมกันสร้างองค์ความรู้แบบบูรณาการส่งเสริมมิติด้านความเป็นธรรมและความยั่งยืน (SDGs 10 และ 17) ในภาคอุสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทย ด้วยการจัดเวทีเสวนาวิจัยสาธารณะ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นันทนาการ และการท่องเที่ยวระยะยาว” (SDGs 8)
รองศาสตราจารย์ ดร. มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาสาธารณะเพื่อเสนอผลการวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นันทนาการ และการท่องเที่ยวระยะยาว : การนำเสนอความเป็นไทยในเวทีโลก มิติทางเพศภาวะของแรงงาน และผลต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข” โดยมี Prof. Paul Statham, Sussex Centre for Migration Research, University of Sussex, UK กล่าวแนะนำ ชี้แจงวัตถุประสงค์ และสรุปผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ ในวันที่ 29 กันยายน 2565 ณ ห้องณัฐ ภมรประวัติ ชั้น 1 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ ภายในงานมีการนำเสนอผลการวิจัยในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- เรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นันทนาการ และการท่องเที่ยวระยะยาว : การนำเสนอความเป็นไทยในเวทีโลกและมิติทางเพศภาวะของแรงงาน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ หัวหน้าโครงการฯ
- เรื่อง “การพำนักระยะยาวของชาวต่างชาติและผลต่อระบบสาธารณสุขและการบริบาลในประเทศ” โดยนางสาวขวัญชนก ใจซื่อสกุล นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษา สถาบันฯ
- เรื่อง “ระบบการดูระยะยาวและธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย” โดย รองศาสตราจารย์ ร้อยเอกหญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การจัดเวทีสาธารณะเพื่อเสนอผลการวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นันทนาการ และการท่องเที่ยวระยะยาว” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “โอกาสและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคมของแรงงานและผู้ประกอบการขนาดเล็กในภาคท่องเที่ยวและบริการของไทย” ได้รับทุน Newton Advance Fellowship โดยการสนับสนุนของ The British Academic และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้จากผลการวิจัยสู่สาธารณะ เสริมสร้างและขยายเครือข่ายการวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อร่วมกันสร้างองค์ความรู้ในมิติด้านความเป็นธรรมและความยั่งยืนในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นันทนาการ และการท่องเที่ยวระยะยาว ตลอดจนเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้สนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การทำความเข้าใจภาพรวม การเชื่อมโยงของแรงงานและการจัดสรรทรัพยากรด้านการดูแลในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางวิชาการ วิจัย และการกำหนดนโยบายของประเทศที่สอดรับกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป