กิจกรรมทั่วไป

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ส่งเสริมการสร้างสรรค์งานศิลป์ไทยสู่สากล

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ส่งเสริมการสร้างสรรค์งานศิลป์ไทยสู่สากล ระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย และ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญใจ คงถาวร คณบดีคณะศิลปะนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ส่งเสริมการสร้างสรรค์งานศิลป์ไทยสู่เวทีสากล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนิดา ศิวปฐมชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและบริการวิชาการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณี ชูเสน รองคณบดีคณะศิลปะนาฏดุริยางค์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของทั้ง 2 สถาบัน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน วันที่ 11 เมษายน 2568 ณ ห้อง Co Working Space ชั้น 1 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

การลงนามความร่วมมือระหว่างในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและงานวิจัย เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรม จะร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการผลิตศิลปิน นักวิชาการ และนักบริหารจัดการด้านศิลปะนาฏดุริยางค์ ดนตรีไทย และคีตศิลป์ไทย และมีอัตลักษณ์ในการสืบสานสร้างสรรค์งานศิลป์ทั้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ  โดยทั้งสองสถาบันมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนงานวิจัย พัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้ก้าวไกลสู่เวทีสากล พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาวงการศิลปะของชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

ข้อตกลงความร่วมมือนี้ครอบคลุม 4 แนวทางหลัก ได้แก่

  1. การส่งเสริมโอกาสให้นักศึกษา : เปิดพื้นที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพสำหรับนักศึกษาคณะศิลปนาฏดุริยางค์ ผ่านโครงการความร่วมมือทางวิชาการ
  2. การขับเคลื่อนการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยสู่ระดับโลก : สนับสนุนการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมในเวทีประชุมวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ
  3. การสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมอาเซียน : ร่วมพัฒนาโครงการ ASEAN Youth Cultural Forum Thailand เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม (Cultural Hub)
  4. การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม : ต่อยอดความรู้และผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างศิลปะไทยให้มีบทบาทในเวทีโลก

โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นการผสานพลังระหว่างศาสตร์และศิลป์ เพื่อขยายขอบเขตของศิลปวัฒนธรรมไทยให้ก้าวไกล สร้างโอกาสใหม่ให้ศิลปินไทย และเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางศิลปะที่แข็งแกร่งในเวทีสากล