พิธีเปิดหลักสูตรพหุภาษา-พหุวัฒนธรรม อาเซียน+3 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดพิธีเปิดหลักสูตรพหุภาษา-พหุวัฒนธรรม อาเซียน+3 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (MU-RILCA ASEAN+3: Multilingual & Multicultural Programme for Sustainable Development) โดยได้รับเกียรติจากนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการฯ รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวรายงาน ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ Webex Meeting
หลักสูตรพหุภาษา-พหุวัฒนธรรม อาเซียน+3 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม – 9 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ด้านพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมการสร้างความเข้าใจอันดีด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศให้อยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย (Unity in Diversity) อีกทั้งยังเป็นการเสริมพลังให้กลุ่มเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้นำยุคใหม่และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคฯ ที่แข็งแกร่ง โดยใช้ภาษาและวัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญในการประสานพลังและขับเคลื่อนสังคมไทยและประชาคมอาเซียนให้มีความก้าวหน้าต่อไป
การออกแบบเนื้อหารายวิชาของหลักสูตรฯ มุ่งหมายให้นักศึกษาในภูมิภาคอาเซียน+3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) ได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมไทย และประเด็นสำคัญต่างๆ ด้านสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรม และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม พร้อมทั้งมีกิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้อย่างมีความสุขท่ามกลางความหลากหลาย ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน +3 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก (Peace, Justice and Strong Institutions)
หลักสูตรพหุภาษา-พหุวัฒนธรรม อาเซียน+3 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น นับเป็นโครงการที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ดำเนินงานเพื่อตอบสนองพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยจัดกิจกรรมบริการวิชาการบนฐานงานวิจัยและต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านพหุภาษา-พหุวัฒนธรรม และศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และได้ปรับรูปแบบการจัดการให้สอดรับกับสังคมวิถีใหม่ โดยจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรวิจัยเป็นต้นทุน ผสานกับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก อันมุ่งสู่การเป็น “สถาบันชั้นนำระดับนานาชาติในการศึกษาวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”