ดนตรีหลากวัฒนธรรม: การบูรณาการจัดการเรียนการสอนดนตรีสำหรับศตวรรษที่ 21
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) จัดการอบรมหัวข้อ “ดนตรีหลากวัฒนธรรม: การบูรณาการสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ อาจารย์ประจำหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา เป็นวิทยากรในวันที่ 25 มกราคม 2568 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยการอบรมครั้งนี้ มีครู บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนิสิตและนักศึกษาจากหน่วยงานและองค์กรทางการศึกษาหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศต่างให้ความสนใจและเข้าร่วมการอบรมอย่างกว้างขว้าง
การอบรม “ดนตรีหลากวัฒนธรรม” จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในดนตรี และความสำคัญของการเรียนรู้ดนตรีจากหลากหลายวัฒนธรรมในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนดนตรีในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การออกแบบ และนำเสนอแผนการสอนห้องเรียนดนตรีแบบใหม่ให้เหมาะสมกับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสังคมไทย รวมทั้งการพัฒนาเทคนิคการสอนที่สามารถใช้ในห้องเรียนดนตรี เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เปิดกว้างที่จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ปลูกฝังความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและตระหนักถึงคุณค่าแห่งความหลากหลายในอนาคตต่อไป
กิจกรรมครั้งนี้ สะท้อนพันธกิจของสถาบัน RILCA ในการให้บริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยนำความเชี่ยวชาญด้านภาษา วัฒนธรรม และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมไปต่อยอดเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน