รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา อาจารย์ตัวอย่าง ประจำปี 2563 (สาขามนุษยศาสตร์)
ครูผู้คิดนอกกรอบ เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้เชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ
รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย อาจารย์ตัวอย่าง ประจำปี 2563 (สาขามนุษยศาสตร์)
รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นนักวิจัยไทยคนแรกที่สร้างผลงานวิจัยด้านภาษาเวียดนาม จนทำให้สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียเป็นสถาบันแรกของประเทศไทยที่ให้บริการวิชาการด้วยการจัดการอบรมทางด้านภาษาและวัฒนธรรมเวียดนาม จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อีกทั้ง เป็นนักวิชาการที่นำนักธุรกิจไทยเข้าอบรมภาษาและวัฒนธรรมเวียดนามออกภาคสนามที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ในปี พ.ศ. 2531 และเป็นผู้ผลิตหนังสือเกี่ยวกับภาษาเวียดนามเพื่อใช้ในการเรียนการสอน จนเป็นที่รู้จักและใช้อ้างอิงถึงปัจจุบัน
จากการได้รับการผลักดันของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิง สุริยา รัตนกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ซึ่งในอดีตมีคนรู้จักภาษาเวียดนามค่อนข้างน้อย ท่านจึงเปิดโอกาสให้ไปอบรมและทำวิจัย ระยะเวลา 1-2 เดือน ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ทำให้มีเครือข่ายในการทำงาน ได้รับประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น จากนั้น ได้มีโอกาสได้เข้าไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ต่อมามีโอกาสได้ไปประเทศอินเดีย ครั้งนี้จึงเป็นจุดหักเหเปลี่ยนจากการทำงานด้านภาษาเวียดนาม มาทำทางด้านอินเดีย เพราะชื่นชอบในความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม จึงทบทวนดูว่าประเทศไทยยังขาดการศึกษาวิจัยอินเดียร่วมสมัยทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางด้านศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมจากอินเดียมานับพันๆ ปีแล้ว แต่คนไทยยังรู้จักอินเดียน้อยมาก ดังนั้น จึงเริ่มต้นจากการทำในสิ่งที่ประเทศไทย และประเทศอินเดียยังขาด จึงมีโอกาสได้สร้างตัวตนจากงานวิจัย สามารถสร้างงานให้กับประเทศ จนกระทั่งได้เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ภารตะศึกษา ปี พ.ศ. 2553 เพื่อศึกษา วิจัย บริการวิชาการ สร้างเครือข่าย และเป็น hub ด้านอินเดียศึกษาให้กับประเทศไทย และเป็นนักวิจัยไทยที่สร้างผลงานวิจัยที่เชื่อมโยงระหว่างไทย-อินเดีย-อาเซียน อย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยเพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับประเทศไทย อินเดีย-อาเซียน เป็นระยะๆ นอกจากนี้ ยังได้บุกเบิกงานวิจัยในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างไทย-อินเดีย โดยผ่านถนนไตรภาคี ไทย-เมียนมา-อินเดีย ผ่านโครงการวิจัยต่างๆ ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการมุ่งเป้าด้านอาเซียนศึกษา ปี พ.ศ. 2560 และในขณะเดียวกันสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นภาคีร่วมกับสถานฑูตเอกอัครราชทูตอินเดีย ได้จัดสัมมนาร่วมกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน อีกทั้ง ยังได้พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับชาวอินเดียในประเทศไทยซึ่งช่วยสร้างเครือข่ายจากทำงานวิจัยครั้งนี้ด้วย
ในบทบาทของความเป็นครู รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา เป็นครูที่คิดนอกกรอบ และกระตุ้นการให้นักศึกษาคิดนอกกรอบ โดยการปรับเนื้อหาการเรียนการสอนรายวิชา ยกตัวอย่างให้นักศึษาเห็นการเชื่อมโยงมิติด้านสังคม โดยนำความรู้หรือทฤษฎีที่มีอยู่นำไปประยุกต์ รู้จักตั้งคำถาม เช่น เราสามาถช่วยแก้ปัญหาของสังคมได้อย่างไร ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะพื้นฐานทางด้านภาษา ภาษาศาสตร์ทำให้นักศึกษามีความคิดในวงจำกัด จึงพยายามสอนให้นักศึกษาคิดเชื่อมโยงไปยังสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีอิทธิพลและสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก พยายามกระตุ้นให้นักศึกษามสร้างงานใหม่ ๆ โดยไม่เน้นว่าจะผิด หรือถูก แต่ดูพัฒนาการกระบวนการคิดวิเคราะห์ กระตุ้นให้นักศึกษานำเสนองาน มีปฏิสัมพันธ์ มีกระบวนการอภิปราย ตั้งคำถาม และตอบคำถามได้ แม้แต่การเรียนการสอนออนไลน์ ก็เรียกซักถามเป็นรายบุคคล อีกทั้งนอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยงาน และผลักดันให้นักศึกษาแสดงฝีมือ เช่น การเข้าประกวดวิทยานิพนธ์จนได้รับรางวัล ทำให้กระบวนการเรียนรู้เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน นับเป็นความภาคภูมิใจของครูคนหนึ่งที่สร้างคนให้กับสังคม ต้องการสร้างคนที่คิดเป็น เพื่อเขาจะได้ออกไปเป็นผู้นำสังคมยุคใหม่ต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องทำทุกหน้าที่และทุกบทบาทที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด และสม่ำเสมอ เช่น การมีวินัย ซื่อสัตย์ ยุติธรรม มองทุกคนเท่าเทียม ให้เกียรติกัน การดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ตามสถานภาพของความเป็นครู ไม่ทำให้ตัวเองลำบาก หรือทำอะไรจนเกินตัว พอใจในสิ่งที่เรามี ที่สำคัญ คือ ใช้คติของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) มักจะสอนตัวเองและนักศึษาเสมอว่า ให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต จะทำให้เป็นคนไม่ตกยุค และพร้อมที่จะปรับตัว เพราะว่ากระแสทุน กระแสสังคม ทำให้นโยบายเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเปิดการรับรู้ข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ คิด วิเคราะห์ตามจะช่วยให้ปรับตัวได้เร็ว หากมีสิ่งใดที่เป็นประเด็น จะจดบันทึกไว้โดยไม่มองผ่าน ไม่ฟังผ่าน ทุกอย่างคือ จิ๊กซอว์ ความคิดที่เกิดขึ้นจะไม่ทิ้ง เพราะในวันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาต่อได้
จากแนวทางจรรยาบรรณอาจารย์ และคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามที่เป็นแบบอย่างที่ดี ทางสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ยกย่องเชิดชูเกียรติให้ รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา เป็นอาจารย์ตัวอย่างของสภาคณาจารย์มหาวิยาลัยมหิดล ประจำปี 2563 สาขามนุษยศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดพิธีมอบโล่รางวัลในงานวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ในเดือนมีนาคม 2564 ต่อไป
ขอบขอบคุณ : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล