งานเสวนาและแถลงข่าว “ผู้สูงอายุ (จะ) อยู่อย่างไรในยุคเฟคนิวส์”
วันที่ 27 มกราคม 2566 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา “ทิศทางการขับเคลื่อนงานรู้เท่าทันสื่อผู้สูงอายุไทยอย่างยั่งยืน” ระหว่างทีมนักวิจัยจากศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ นักวิจัย นักวิชาการ กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมเสวนา โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพงษ์ บุญรักษา นักวิจัย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว “ผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุไทยและเกมออนไลน์เพื่อฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่อ” ดำเนินรายการโดย คุณกนกวรรณ กนกวนาวงศ์ ณ โรงแรมสยาม แอท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุไทย โดยคณะนักวิจัยกลุ่มการสื่อสารเพื่อการพัฒนาในด้านการสร้างเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากการสำรวจสถานการณ์และผลกระทบการใช้สื่อของผู้สูงอายุไทยปี 2565 โดยเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุ 2,000 คน ชาย 945 คน (47.3%) หญิง 1,055 คน (52.70%) จาก 20 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าด้านสถานการณ์การใช้สื่อที่น่าสนใจ คือ 1. ผู้สูงอายุถึง 50.80% เปิดรับสื่อมากกว่าวันละ 4 ชั่วโมง และ 31.50% ใช้สื่อวันละ 3-4 ชั่วโมง โดยเปิดรับสื่อบุคคลมากที่สุดเป็นอันดับแรก อันดับที่ 2 คือ โทรทัศน์ และอันดับที่ 3 คือ สื่อออนไลน์
นอกจากนี้ สื่อที่เปิดรับมากที่สุดเป็นอันดับแรกเปลี่ยนจากโทรทัศน์ ในปี 2564 มาเป็นสื่อบุคคล และประเด็นที่ผู้สูงอายุไทยสนใจเปิดรับจากสื่อมากที่สุด เป็นข่าว บันเทิง สุขภาพ ธรรมะ/ศาสนา การเมือง และอาหาร เช่นเดียวกับผลสำรวจในปี 2564 แต่ผู้สูงไทยใช้เวลาเปิดรับสื่อในแต่ละวันน้อยลงกว่าปี 2564 ทุกประเภทสื่อ โดยเฉพาะการรับชมโทรทัศน์ จากเดิมรับชมวันละมากกว่า 4 ชั่วโมง แต่ในปี 2565 ลดลง เหลือวันละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น สื่อบุคคล สื่อออนไลน์ มีค่าเฉลี่ยการเปิดสื่อที่ลดลงเช่นเดียวกัน ด้านผลกระทบจากการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุ พบว่า การเปิดรับสื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะในทางบวกเกือบทุกด้าน โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านปัญญามากที่สุด คือ ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าใจชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามากขึ้น รองลงมา ด้านจิตใจ เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความเสียสละเพื่อผู้อื่น การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น ร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย ทำให้บริหารร่างกายตามวัย มีการดูแลเหงือกและฟัน ในด้านเศรษฐกิจ สื่อไม่มีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ การออม การวางแผนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
การเปิดรับสื่อจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านบวก แต่สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ตระหนักว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่าง ๆ กลับเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุไทย รู้ว่าตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่าง ๆ ถึง 22% ซึ่งมีเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ในปี 2564 มีจำนวน 16%) โดยผู้สูงอายุที่รู้ว่าตนตกเป็นเหยื่อมีพฤติกรรมการเปิดรับสื่อมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่รู้ว่าตัวไม่ตกเป็นเหยื่อ สำหรับเรื่องที่ผู้สูงอายุไทยถูกหลอกมากที่สุด คือ การถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่ได้คุณภาพ 46.14% ถูกหลอกให้ทำบุญ ช่วยเหลือคนช่วยเหลือสัตว์ 43.06% ถูกหลอกให้ซื้อยาและการดูแลสุขภาพ 30.23% และถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 13.86% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่าปี 2564 อย่างชัดเจน ที่น่าสังเกต คือ จำนวนผู้สูงอายุที่ถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (จากจำนวน 3.75% ในปี 2564)
นวัตกรรม เกมออนไลน์ “หยุด คิด ถาม ทำ” หรือ STAAS (สต๊าซ) สร้างสรรค์ขึ้นเป็นชุดที่ 2 ยังคงช่วยให้ผู้สูงอายุรับมือกับ Fake news และการหลอกลวงของมิจฉาชีพรูปแบบต่าง ๆ ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้สูงอายุ เกมชุดที่ 2 นี้ ได้เพิ่มสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี ซึ่งเมื่อรวมกับเรื่องราวของเกมชุดแรก ทำให้ผู้เล่นมีสถานการณ์จำลองให้ฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่ออย่างหลากหลาย เกม STAAS หยุด คิด ถาม ทำ เป็นเครื่องมือให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ ฝึกทักษะ เสริมทักษะ รู้ทันตนเอง และรู้เท่าทันสื่อต่าง ๆ ได้
Seminars and Press Conference on ‘How will the Elderly Survive the Fake News Era?’
On January 27, 2023, the Research Institute for Languages and Cultures of Asia (RILCA) held a seminar on “Direction of Sustainable Media literacy for the Elderly in Thailand.” The discussion was led by the Intelligence Center for Elderly Media Literacy at RILCA, with researchers from the Department of Older Persons, Thai Health Promotion Foundation, and partners. The press conference, moderated by Miss Kanokwan Kanokwanawong, covered the “Impact of Media Use on Thai Elders and Online Games for Media Literacy Skills.” It was held at Siam@Siam Design Hotel Bangkok, Pathumwan and featured speeches by Assoc Prof Dr Nuntiya Doungphummes, Assoc Prof Dr Kwanchit Sasiwongsaroj, and Asst Prof Dr Theeraphong Boonrugsa from the centre.